ประวัติการสร้างพระเครื่องไทย เป็นเหมือนประวัติศาตร์ ศิลปวัฒนธรรมพระเครื่องที่บรรจุไว้บนพระเครื่อง พระเครื่องเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญา ที่อยู่คู่มากับสังคมไทย มาตั้งแต่ในสมัยอดีต พระเครื่องสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาเคารพ เพื่อระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระศาสดา โดยเริ่มแรกพระเครื่องสร้างขึ้นเป็นรูปจำลองของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา โดยการจัดพิมพ์ขึ้นมาจำนวนมากแล้วบรรจุใส่กรุ ตามสถูปเจดีย์ต่าง ๆ หรืออาจเป็นหีบเป็นไห ฝังไว้ตามฐานเจดีย์ ฐานพระประธาน หรือตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนในยุคนั้นให้ความเคารพ ถือเป็นบุญใหญ่ที่พุทธศาสนิกชนเชื่อถือศัทธา
ในยุคแรกของการสร้างพระนั้น ยังเรียกว่า “พระพิมพ์” ซึ่ง พระพิมพ์ แบ่งเป็นออกเป็น 2 ประเภท ตามเนื้อของวัสดุที่ใช้สร้าง
(1) ใช้ดิน คือ ดินเหนียวผสมกับมวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เช่น อัฐิธาตุ ดอกไม้ ขี้เถ้าธูป ขี้ผึ้งจากเปลวเทียน ฯลฯ พระพิมพ์ที่ไม่ได้นำมาเผาให้แห้ง เรียกว่า พระดินดิบ โดยจะรอให้เนื้อพระแห้งเอง ซึ่งไม่คงทนเหมือนกับพระที่ผ่านการเผา
(2) พระผลิตจากวัสดุอื่น เช่น ดีบุก ตะกั่ว หรือที่วงการเรียกว่า เนื้อชิน เนื้อสัมริด โดยจะพบในพระกรุต่าง ๆ
พิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ขุดค้นพบในเมืองไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ พระรอดและพระพิมพ์เม็ดกระดุมศรีวิชัย
พระรอด
พระรอดนั้นสร้างขึ้นราว พ.ศ. 1200 ในยุคนครหริภุญไชย มีเจ้าผู้ครองนครคือพระนางจามเทวี พระรอดจัดสร้างขึ้นโดยฤาษีสององค์คือ “วาสุเทพฤาษีและสุกกทันตฤาษี” สร้างด้วยเนื้อดินเผา ว่ากันว่ามีจำนวนการสร้างมากถึง 84000 องค์ เมื่อสร้างเสร็จได้ทยอยไปบรรจุไว้ตามพระเจดีย์ตามวัดต่าง ๆ ที่วัดมหาวันได้รับการบรรจุมากที่สุด
พระพิมพ์เม็ดกระดุมศรีวิชัย เป็นพระกรุดังของทางภาคใต้ ขุดพบที่ กรุเขาศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี อายุความเก่ากว่า 1,000 ปี เป็นพระเนื้อดินดิบ ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธเจ้าด้านหลังอูมนูน มีลักษณะคล้ายเม็ดกระดุม
ยุคสมัยที่รุ่งเรืองของพระกรุ
พระสกุลกำแพง เช่น พระกรุนี้ขุดพบ บริเวณทุ่งกว้างที่มีชื่อว่า “ลานทุ่งเศรษฐี” หรือที่โบราณเรียกว่า “เมืองนครชุมเก่า” บริเวณลานทุ่งเศรษฐีอันกว้างใหญ่นี้ ได้ปรากฏว่ามีซากโบราณสถานอยู่มากมาย จึงมีการขุดค้นพบพระ พระที่พบในกรุนี้มี พระซุ้มกอ พระลีลาเม็ดขนุน พระกำแพงเปิดโลก ฯลฯ พระสกุลนี้ส่วนมากนิยมสร้างด้วยเนื้อดินเผา
พระสมัยลพบุรี เป็นพระยุคที่สร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19-20 อายุราว 600-700 ปี พระที่มีชื่อเสียงของสมัยลพบุรี คือ พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระหูยาน กรุวัดปืน พระร่วงนั่ง กรุม่วงค่อม ฯลฯ
พระสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสุโขทัย เริ่มสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 พระเครื่องที่มีชื่อเสียงในยุคนี้คือ พระลีลา กรุวัดถ้ำหีบ พระเปิดโลก กรุเตาทุเรียง พระลีลากรุวัดมหาธาตุ
พระสมัยอยุธยา พระสมัยอยุธยาเริ่มสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.1893 จนถึงปี 2310พระปรุหนัง พระกรุวัดราชบูรณะ พระกรุวัดตะไกร พระหลวงพ่อโต กรุบางกระทิง
พระกรุอยุธยามีหลายกรุ มีพระหลายพิมพ์ ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่
พระสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประชาชนในยุคนั้นยังกราบไหว้บูชาพระศิลปะอยุธยาเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากยังได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากสมัยอยุธยา ต่อมาในปลายรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการนำพระศิลปะทั้งสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา มาผสมผสานแล้วประยุกต์จนเป็นศิลปะของตัวเอง มีการสร้างพระพุทธรูปและพระเครื่องกันแพร่หลายมากขึ้น จนเข้ายุคสมัยของรัชกาลที่ 5 มีการปั๊มเหรียญกษาปณ์ เป็นเหรียญเงินตราที่ใช้ในประเทศ ในยุคแรกเป็นการสั่งปั๊มจากต่างประเทศ ต่อมาถึงรัชสมัยของ ร.6 เทคโนโลยีเครื่องการปั๊มเหรียญเข้ามาเมืองไทย และในยุคนี้เองจึงเริ่มมีการผลิตพระเหรียญที่เป็นรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์กันขึ้นมา เช่น เหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ
การสร้างพระในยุคปัจจุบัน การสร้างพระเครื่อง พระบูชา ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดจะเป็นยุคสมัยของรัชกาลที่ 9 เพราะมีการดำเนินการในเชิงธุรกิจแบบเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะช่วงปี 2530 ขึ้นมา มีการสร้างพระเครื่อง พระบูชา กันแทบทุกวัดทั้งที่แบบทางวัดสร้างเอง ทั้งที่มีนักธุรกิจ เซียนเล็ก เซียนใหญ่มาดำเนินการจัดสร้าง มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้นักนิยมพระเข้ามาจับจองกันแทบทุกวัน
สรุป
ประวัติการสร้างพระเครื่องไทย ในอดีตพระเครื่องในยุคแรก ๆ มีเจตนาเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา สร้างพระเพื่อเอาบุญ เป็นการแจกจ่ายไม่มีการซื้อขายกัน การสร้างจะสร้างจำนวนมากเพื่อบรรจุกรุไว้ด้วย แต่ในสมัยปัจจุบันพระเครื่องมีมูลค่าเป็นทรัพย์สิน มีการจัดสร้างในเชิงธุรกิจเพิ่มเข้ามา มีผู้ที่ประกอบอาชีพซื้อขายพระเครื่องและเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยมากขึ้น