พระเครื่องปัจจุบันถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่มีมูลค่า สืบเนื่องจากมีคนเล่นพระมากขึ้นมีการสะสมพระเครื่องเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นวัตถุมงคลที่มูลค่าสูงพระบางองค์นั้นมีราคาสูงถึงหลักล้านก็มี การสะสมพระเครื่องนั้นบางคนสะสมพระเพราะมีความเชื่อในพุทธคุณ ศรัทธาในองค์พระ ศรัทธาในพระเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสก บางคนสะสมเป็นของเก่าเป็นวัตถุโบราณ บางคนซื้อขายกันเป็นธุรกิจ สำหรับคนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องหรือไม่ได้อยู่ในวงการพระ การขายพระให้ได้ราคาดี ไม่ใช่เรื่องยากถ้าท่านได้ศึกษาเทคนิคความรู้จากบทความนี้ ก่อนอื่นท่านควรตรวจเช็คพระของท่านก่อนว่าเก๊หรือแท้ ท่านสามารถตรวจเช็คตามขั้นตอนนี้ วิธีเช็คพระแท้ – พระเก๊ ด้วยตัวเองสำหรับมือใหม่ ส่วน การขายพระให้ได้ราคาดี นั้นมีเทคนิคง่าย ๆ ดังนี้
1. ความนิยมพระเครื่อง
ในสมัยก่อนวงการพระเครื่องจะให้ราคาค่านิยมกับพระเครื่องที่มีอายุความเก่าก่อนเป็นปัจจัยแรก แต่ในสมัยปัจจุบันนี้กระแสดังกล่าวได้เปลี่ยนไป วงการพระเครื่องได้หันมาให้ความนิยมต่อพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเกจิอาจารย์ มีลูกศิษย์ศรัทธามากมาย ยิ่งถ้ามีประสบการณ์เห็นเป็นประจักษ์ก็จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
2. อายุของพระเครื่อง
พระเครื่องที่มีความเก่ามีการสร้างมานานก็จะได้เปรียบพระที่มีอายุการสร้างน้อยกว่า แต่ก็ไม่เสมอไปตามที่กล่าวไว้ในแล้วในข้อ 1. ในข้อนี้มักจะนิยมพระที่มีอายุการสร้างที่เก่ามาก ๆ เช่น พระกรุ เนื่องจากมีเสน่ห์ความสวยงามของศิลปะโบราณ พระกรุบางกรุมีมูลค่าเป็นล้าน ๆ เป็นที่นิยมในวงการพระเครื่องเป็นอย่างมาก
3. ความหายาก
พระเครื่องที่มีจำนวนการสร้างน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเล่นพระ เมื่อของมีน้อยความต้องการมีมาก ราคาก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ยิ่งพระองค์ไหนสร้างน้อยด้วย ได้รับความนิยมด้วย สนนราคาก็จะแพงขึ้นไปอีก
4. การจัดสร้างและพิธีกรรม
พระเครื่องที่มีพิธีปลุกเสกใหญ่ เช่น ปลุกเสกหมู่โดยพระเกจิอาจารย์ 108 องค์ หรือมีพระดัง ๆ มาปลุกเสกเป็นจำนวนมาก ก็จะได้รับความนิยมกว่าพระรุ่นที่พิธีเล็กกว่า
5. พระเครื่องทันอาจารย์ผู้ปลุกเสกหรือไม่
พระเครื่องที่ทันพระเกจิที่ปลุกเสกจะมีราคาสูงกว่าพระเครื่องที่ปลุกเสกหลังจากพระเกจิอาจารย์นั้นได้มรณภาพลง ถ้าเป็นพระเหรียญก็จะเรียกว่าเหรียญตาย ซึ่งพระเครื่องที่ไม่ทันพระเกจินี้วงการพระจะไม่ค่อยนิยมกัน
6. พระมีประสบการณ์หรือไม่
อีกปัจจัยที่ส่งผลให้พระมีราคาแพงไม่แพง คือพระเครื่องที่มีประสบการณ์มักจะมีราคาที่สูงกว่าพระเครื่องที่ไม่มีประสบการณ์ มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายองค์ถึงแม้ท่านจะละสังขารจากไปแล้ว แต่กิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธ์ของท่านยังเป็นที่กล่าวขานกัน ประกอบกับมีผู้นำไปใช้แล้วได้รับประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์แก่ลูกศิษย์และสาธุชนทั่วไป ยิ่งถ้าเป็นข่าวโด่งดังราคายิ่งพุ่งพรวด ๆ
7. พระที่อยู่กระแสขาขึ้น
พระเครื่องที่อยู่ในกระแสความนิยม ไม่ว่าจะกระแสจริง กระแสปลอม หรือพระเครื่องที่เกิดจากการปั่นราคาของบรรดาเซียนพระที่ทยอยเก็บของ พระเครื่องเหล่านี้ราคาจะไต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ขึ้นแบบไม่มีสาเหตุ ถ้าเราจับกระแสถูกแล้วเราปล่อยพระในช่วงนี้เราก็จะได้ราคาดี แต่ถ้าเป็นช่วงที่เซียนเก็บของพอแล้ว เซียนพระก็จะเริ่มปล่อยของ พอเซียนพระปล่อยของหมดเมื่อไหรพระนั้นราคาจะตกทันที
8. สภาพของพระเครื่อง
พระที่มีความสวย พระในสภาพเดิม จะมีราคาสูงกว่าพระใช้ พระมีตำหนิ มีรอยสึก หัก บิ่น ยิ่งถ้าพระเครื่ององค์ไหนที่มีดีกรีชนะการประกวดมายิ่งราคายิ่งแพงขึ้นอีก ดังนั้นเราควรรักษาพระให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด อ่านบทความนี้ วิธีเก็บรักษาพระเครื่อง
พระที่อยู่ในสภาพเดิมคือ พระที่คงสภาพเดิมตอนออกจากวัดให้ได้มากที่สุดหรือพระที่ไม่ผ่านการใช้เลย ตัวอย่างเช่น
พระเหรียญรมดำ รมดำเต็ม ผิวไม่เปิด ยิ่งมีผิวประกายม่วง ซึ่งเกิดจากการทำปฏิกริยาน้ำยารมดำกับอากาศ ทำให้ผิวมีสีม่วงขึ้นมา วงการพระเรียกผิวปีกแมลงทับ พระเครื่องผิวแบบนี้จะได้ราคาดีกว่าองค์ที่รมดำแล้วสีออกดำธรรมดา
พระเหรียญเนื้อเงิน ธรรมดาเนื้อเงินเมื่อผลิตออกมาใหม่ ๆ สีจะขาวใสเรียกว่า “ผิวกระจก” ถ้าเราเก็บรักษาผิวอย่างนี้ไว้ได้จะได้ราคาดีที่สุด แต่ธรรมชาติของเนื้อเงินเมื่อเหรียญโดนอากาศจะทำให้ผิวหมองลงบางองค์ถึงกับดำเลย
พระเนื้อผง พระองค์ที่กดพิมพ์ติดคมชัดได้ราคาดีกว่าองค์ที่ติดไม่ชัด พระเนื้อผงต้องดูทรงพระประกอบ ด้วยพระบางองค์ตอนกดพิมพ์ก็ได้รูปทรงดี แต่พอแห้งแล้วพระเกิดบิดเบี้ยวก็จะเสียราคา หากพระองค์ไหนมีผิวแป้งโรยติดอยู่ก็จะมีภาษีดีกว่าพระที่ไม่มีแป้งโรย
พระเครื่องที่เราบูชามาจากวัด ทางวัดมีแถมอะไรมาเราต้องเก็บไว้ เช่น ใบคาถา กล่องเดิมหรือซองเดิม สิ่งประกอบพวกนี้ยิ่งอยู่ครบก็จะได้ราคาดีกว่าพระที่มีแต่องค์พระเปล่า ๆ
เมื่อเราทราบถึงปัจจัยที่ทำให้พระเครื่องมีราคาสูงแล้วนั้น คราวนี้เรามากล่าวถึงประเด็นที่ว่าเราจะปล่อยพระให้ได้ราคาดี เราจะไปปล่อยที่ไหน ปล่อยกับใคร เราวิเคราะห์เป็นข้อ ๆ ไป
1. เอาไปขายให้กับผู้ใช้โดยตรง
วิธีนี้คือการปล่อยให้กับผู้ที่นำไปบูชาเองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นญาติ คนรู้จัก หรือเพื่อน การขายเองโดยไม่ผ่านคนกลางท่านย่อมได้ราคาดีที่สุด แต่วิธีนี้จะติดปัญหาว่า ผู้ซื้อจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพระเราเป็นพระแท้ ในเมื่อพระผู้ซื้อดูพระไม่เป็น ท่านก็ดูพระไม่เป็นและไม่มีเครดิตในวงการ ถ้าท่านทำให้ผู้ซื้อมั่นใจในพระของท่านได้ ท่านก็จะขายพระได้ราคาที่ต้องการ มีคนกล่าวไว้ว่า “พระที่อยู่ในมือเรากับพระที่อยู่ในมือเซียน พระเหมือนกันแต่ขายได้ราคาไม่เท่ากัน” เพราะว่าเซียนพระเขาสะสมชื่อเสียงมานานมีเครดิต ลูกค้าให้ความไว้วางใจ เซียนพระจึงสามารถเรียกราคาได้แพง ๆ
2. ฝากหนังสือพระขาย
หนังสือพระที่วางจำน่ายเป็นรายปักษ์ รายเดือน หนังสือบางเล่มจะเปิดให้กับคนทั่วไปนำพระไปฝากขายได้ วิธีนี้ข้อดีคือเราตั้งราคาสูงตามราคาท้องตลาดได้ เพราะเป็นการขายโดยตรงให้กับผู้ใช้ แต่มีข้อเสียคือ พระบางรุ่นทางหนังสือพระไม่รับฝาก เช่นพวกพระย่อย ๆ พระไม่นิยม เรื่องนี้ก็เป็นสิทธิ์ของเขา เพราะหนังสือเขามีพื้นที่จำกัด เขาต้องคัดเอาแต่พระที่เป็นที่นิยม และคิดว่าลงไปแล้วขายได้ เมื่อพระท่านขายได้จะโดนหักเปอร์เซ็นต์ตามเงื่อนไข การได้รับเงินจะช้า เพราะไหนต้องรอคิวเอาพระไปตีพิมพ์ ไหนต้องรอให้คนซื้ออีก กว่าจะได้เงินอาจนานกว่า 3 – 4 เดือน
3. ขายตามสื่อโซเชียล
ในยุคดิจิตอลนี้สื่อโซเซียลมีบทบาทกับชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ทุกคนสามารถเข้าสื่อนี้ได้โดยง่าย วิธีนี้เป็นการขายให้กับผู้บริโภคโดยตรงเช่นกัน การขายในสื่อโซเชียลในปัจจุบันได้รับความนิยมมาก ทั้งมือเก่า มือใหม่ ทั้งเซียนเล็ก เซียนใหญ่ ต่างโดดเข้ามาร่วมสังฆกรรมอย่างพร้อมหน้า มีทั้งโพสต์ขายฟรีและเสียเงิน การขายผ่านโซเชียลจะต้องออกแรงกันนิดนึง ท่านต้องถ่ายรูปพระ ให้สวยงาม ดูชัดเจน พอพิจารณารายละเอียความเก๊แท้ได้ การจะถ่ายรูปให้สวยงาม ต้องลงทุนอุปกรณ์ เช่น กล้องถ่ายรูป และท่านต้องมีความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องในระดับพอใช้ได้ พระที่โพสต์ขายควรเป็นพระแท้ เพราะคนซื้อก่อนซื้อเขาก็ต้องเช็คแล้วเช็คอีก ถ้าเราลงพระแท้เราก็ขายได้ตลอด ถ้าเราลงขายแต่พระเก๊เราก็ขายได้ไม่กี่ครั้งคนซื้อก็บ๊าย บาย
4. ฝากตามร้านขาย
วิธีนี้เราจะขายได้ในราคาดีในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นการขายให้กับคนใช้โดยตรงเช่นกัน แต่เราก็ต้องโดนหักค่านายหน้าหรือค่าขายแล้วแต่ตกลงกัน การฝากขายตามร้านพระเครื่องควรดูให้ดี เลือกร้านที่ไว้ใจได้ ถ้าเลือกร้านไม่ดี แทนที่จะขายได้เงินกลับไม่ได้ ดังนั้นควรพิจารณาเลือกให้ดีก่อนนำพระไปฝาก
แนะนำร้านรับฝาก : บ้านพระดอทคอม
5. ตั้งแผงพระขายเอง
ถ้าท่านมีเวลาอาจไปเช่าที่ตั้งแผงพระขายโดยตรงเลย ตามสนามพระ ตามตลาดนัดพระก็ได้ เขาจะตั้งเป็นโต๊ะให้ ซึ่งค่าเช่าประมาณโต๊ะละ 20-50 บาท แล้วแต่ทำเล ตลาดพระที่ดัง ๆ เช่น ตลาดพระท่าพระจันทร์ ศูนย์พระเครื่องพันธ์ทิพย์พลาซ่างามวงศ์วาน ตลาดพระขนส่งสายใต้ใหม่ ตลาดพระพญาไม้ เป็นต้น บางท่านพอไปขายครั้งสองครั้งเกิดขายได้ ติดใจทำเป็นอาชีพเสริม หรือเป็นอาชีพหลักก็ได้
6. ขายให้กับเซียนพระหรือร้านรับเช่าพระ
ข้อสุดท้ายคือ ขายให้กับเซียนพระหรือร้านรับเช่าพระ แต่ร้านพระพวกนี้เขาจะไม่ได้รับพระทุกชนิด เขาจะรับก็แต่พระที่ในวงการนิยมกันเท่านั้น รับเฉพาะพระที่เขาเอาไปขายต่อได้ บางร้านจะรับเฉพาะพระเป็นสาย ๆ ท่านก็จะศึกษาก่อนว่าพระของท่านเป็นพระอะไร วงการนิยมหรือไม่ ถ้าพระท่านเป็นพระแท้ที่วงการนิยมก็ขายได้ แต่ถ้าพระท่านเป็นพระที่วงการไม่นิยมท่านอาจขายไม่ได้ วิธีนี้ดีอย่าง คือ ถ้าขายได้ก็ได้รับเงินสดเลย แต่ราคาอาจต่ำกว่าราคาท้องตลาดเพราะเขาต้องนำไปจำหน่ายต่ออีกที
สรุป
การขายพระให้ได้ราคาดี ท่านต้องพิจารณาก่อนว่าท่านถนัดขายแบบไหนขายให้ใคร ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว การขายพระให้ได้ราคาดีนั้น นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังอยู่ที่เจ้าของพระด้วยว่าหวงมากหวงน้อยอีกด้วย ถ้าเจ้าของพระหวงมาก คนซื้อก็เพิ่มราคาขึ้นไปอีกจนเจ้าของพระใจอ่อน อันนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อระดับราคา