10 อันดับ พระพุทธรูปที่สวยที่สุด ในเมืองไทย

พระพุทธรูปที่สวยที่สุด
แชร์ให้เพื่อน

ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีคนไทยนับถือมากที่สุด เมืองไทยมีวัดกว่าสองหมื่นวัดทั่วประเทศ มีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธาน และพรพุทธรูปที่ประดิษยฐานตามวิหารมากมาย คนไทยนิยมสร้างพระพุทธรูปถวายตามวัดต่าง ๆ มีพระพุทธรูปที่มีศิลปะงดงาม พระพุทธรูปที่สร้างตามศิลปะของแต่ละยุคแต่ละสมัย พระพุทธรูปที่สวยที่สุด ในเมืองไทยมีมากมายหลายองค์ บทความนี้จะรวบรวมพระพุทธรูปที่มีศิลปะสวยงามมา 10 อันดับ ดังนี้

 

พระพุทธชินราช
พระพุทธชินราช

1. พระพุทธชินราช

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย มีพระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระพักตร์ กลมรูปไข่ มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระโขนง มีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ฝ่าพระบาท แบนราบ พระพุทธชินราชมีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทอง  มีความสวยประณีตอ่อนช้อยงดงาม ซุ้มเรือนแก้วนี้ช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราช ดูงดงามยิ่งขึ้น

การสร้างพระพุทธชินราช พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไทย) ได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1900

พระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร องค์พระนั่งขัดสมาธิอยู่บนฐานชุกชีบัวคว่ำบัวหงายพระพักตร์หันไปทางทิศตะวันตก

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ตั้งอยู่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก อยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ริมถนนพุทธบูชา เป็นวัดหลวงชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร

อ่านเพิ่มเดิม 10 อันดับ พระพุทธรูป ที่มีการสร้างเป็นพระเครื่องมากที่สุด

 

หลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตร
หลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตร

2. หลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตร

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ “หลวงพ่อทองคำ” ประดิษฐานอยู่ วัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย แต่เดิมพระพุทธรูปถูกพอกปิดด้วยปูนทั่วทั้งองค์ พุทธลักษณะภายนอกไม่งดงาม จากหลักฐานเดิมพบว่า หลวงพ่อเคยประดิษฐานในพระอุโบสถวัดโชตินาราม หรือวัดพระยาไกร มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ต่อมาวัดพระยาไกรขาดการบูรณะ ตกอยู่ในสภาพวัดร้าง จึงได้ย้ายองค์หลวงพ่อมาไว้ที่ วัดสามจีน ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดไตรมิตร โดยทางวัดได้วางหลวงพ่อไว้ที่ว่างเปล่าข้างเจดีย์ เนื่องจากวิหารยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ต่อมา ปี พ.ศ. 2498 เมื่อถาวรวัตถุต่าง ๆ ของวัดสร้างเสร็จเรียบร้อย ทางวัดจึงมีมติย้ายองค์หลวงพ่อขึ้นไปประดิษฐานบนวิหารที่เพิ่งสร้างเสร็จ แต่เนื่องจากองค์หลวงพ่อมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ทำให้ระหว่างการเคลื่อนย้าย ลวดสลิงที่ผูกกับองค์พระได้ขาดลง ทำให้องค์พระกระแทกกับพื้นจึงทำให้ปูนที่พอกปิดองค์หลวงพ่อได้กะเทาะหลุด ทำให้เห็นเนื้อในของหลวงพ่อเป็นทองคำบริสุทธิ์ ทางวัดจึงได้สกัดปูนออกหมด แล้วจึงเป็นเป็นองค์พระเนื้อทองคำขนาดใหญ่ สวยงดงามมาก

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือชื่อเดิม “วัดสามจีน” ตั้งอยู่ ตำบลตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์ เป็นวัดโบราณไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด  มีเรื่องเล่าว่ามีชาวจีน 3 คน เป็นผู้อุปภัมถ์สร้างวัดขึ้นมา

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : เพจวัดไตรมิตรวิทยาราม

 

พระพุทธอังคีรส
พระพุทธอังคีรส

3. พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธ

พระพุทธอังคีรส เป็นพระเนื้อสำริด พระพักตร์ค่อยข้างกลม ไม่มีอุษณีษะ ขมวดพระเกศาเล็ก มีพระรัศมีขนาดใหญ่เป็นเปลว การครองจีวรห่มเฉียง มีริ้วแบบธรรมชาติ

พระพุทธอังคีรสนั้น เป็นรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างขึ้นเพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานของวัดราชบพิธ ใน พ.ศ. 2415 โดยกะไหล่ทองขององค์พระส่วนบน ได้มาจากเครื่องทองของพระองค์เอง ส่วนฐานหินอ่อนที่ประดิษฐานขององค์พระนั้น โปรดเกล้า ฯ ให้นำเข้าจากประเทศอิตาลี

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็น วัดประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 ตั้งอยู่บนถนนเฟื่องนคร เป็นวัดที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5  มีสถาปัตยกรรมผสมกันระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรป ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในโบสถ์ออกแบบตกแต่งแบบตะวันตก

 

พระศรีศากมุนี

4. พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม

พระศรีศากยมุนี พระประธาน วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ

เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ แห่งเมืองสุโขทัย หล่อมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย ครั้นต่อมาวัดมหาธาตุ ชำรุดทรุดโทรมลง มีพระพุทธรูปหลายองค์ต้องตากแดดตากฝน เมื่อเนิ่นนานมาถึงยุคกรุงรัตนโกสินทธิ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงรับสั่งให้ย้ายหลวงพ่อ และได้นำมาปฏิสังขรองค์หลวงพ่อและประดิษฐานไว้ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม จนถึงปัจจุบันนี้

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ร.1 ทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2350 สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2351 

 

พระพุทธเทวปฏิมากร
พระพุทธเทวปฏิมากร

5. พระพุทธเทวปฏิมากร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

พระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระประธานในอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)  เดิมประดิษฐานอยู่ วัดศาลาสี่หน้า (ปัจจุบันคือ วัดคูหาสวรรค์) เมื่อสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร.1) โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาวัดโพธิ์ในปี พ.ศ. 2331 พระองค์ทรงสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2344 ให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาสี่หน้ามาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พร้อมทั้งตั้งชื่อใหมว่า พระพุทธเทวปฏิมากร และประดิษฐานมาจนถึงทุกวันนี้

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตามประวัติสร้างครั้งสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดโพธาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2331

 

พระพุทธไสยาสน์ วัดโพธิ์

6. พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอน วัดโพธิ์

พระพุทธไสยาสน์ หรือเรียกกันว่า “พระนอนวัดโพธิ์” ประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) เป็นพระนอนที่มีขนาดยาวเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย มีความยาวถึงสองเส้นสามวา รองลงมาจากพระนอนจักรสีห์ (มีความยาวสามเส้น สามวา สองศอก หนึ่งคืบ เจ็ดนิ้ว) และพระนอนวัดขุนอินทประมูล (มีความยาวสองเส้นห้าวา)

ตามประวัติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อตอนที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม องค์พระก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทองทั้งองค์

 

พระพุทธชินสีห์
พระพุทธชินสีห์

7. พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร

พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ตามความเชื่อว่ากันว่าสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระธรรมราชาลิไท โปรดฯ ให้สร้างขึ้น

พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแต่ครั้งกรุงสุโขทัย นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมากที่สุดพระองค์หนึ่ง

พระพุทธชินสีห์ มีลักษณะงดงาม นับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์  ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร  เป็นพระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดที่มีความงดงามด้านสถาปัตยกรรมและจิตกรรมฝาผนัง เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปไทย จีน และตะวันตก ได้อย่างลงตัวและสวยงาม

 

พระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิง
พระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิง

8. พระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิง

เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ศิลปะอู่ทอง  เบื้องหน้ามีตาลปัตรพัดยศ มีพระอัครสาวกที่ทำด้วยปูนปั้นลงรักปิดทองประดิษฐานอยู่เบื้องซ้ายและขวา ชาวไทยเชื้อสายจีน เรียกว่า ซำปอกง หน้าตักกว้าง ประมาณ 20 เมตร สูง 19 เมตร นับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั่งสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด

พระพุทธไตรรัตนนายกประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร วัดพนัญเชิง ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก ตรงข้ามกับมุม

ตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาและไม่ปรากฎหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง เป็นพระ 1 ใน 10 ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

 

 

พระมงคลบพิตร
พระมงคลบพิตร

9.  พระมงคลบพิตร วัดมงคลบพิตร

พระมงคลบพิตร วัดมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากพุทธลักษณ และการค้นพบพระพุทธรูปขนาดเล็กแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง บรรจุไว้ในพระอุระ แสดงให้เห็นศิลปะสุโขทัยและศิลปะล้านนา เมื่อนักวิชาการพิจารณาแล้วจึงเชื่อว่า พระมงคลบพิตรน่าจะสร้างขึ้น ในสมัยอยุธยาตอนต้น ประมาณพุทธศตวรรษ ที่ 20 เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง สูง 12.45 เมตร

วัดมงคลบพิตร ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาระหว่างปี พ.ศ. 1991–2145

 

พระศรีศากยะทศพลญาณ
พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

10. พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

พระศรีศากยะทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑล เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ พุทธลักษณะทรงยกพระบาทขวาจะก้าว ห้อยพระหัตถ์ขวาท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน หล่อด้วยทองสำริด เป็นพระพุทธรูปสูง 15.875 เมตร เป็นพระพุทธรูปลีลา หล่อด้วยทองสำริดที่มีลักษณะงดงาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พุทธมณฑล เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา อยู่ใน ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระกึ่งพุทธกาล เมื่อปี พ.ศ. 2500

สรุป

พระพุทธรูปที่ได้รับยกย่องว่าเป็น พระพุทธรูปที่สวยที่สุด ในเมืองไทย เป็นพระพุทธรูปที่คนไทยนิยมเดินทางไปกราบไหว้กัน รวมทั้งนักท่องเที่ยวก็นิยมไปเคารพบูชา เมืองไทยยังมีพระพุทธรูปที่มีความงดงามอีกมากมาย ที่คนไทยหลายคนมองข้าม บางองค์เป็นพระดังของท้องถิ่น เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของแต่ละจังหวัด เพียงแต่ว่าขาดการประชาสัมพันธ์ จึงทำให้คนไทยและนักท่องเที่ยวไม่ได้ไปกราบสักการะกัน


แชร์ให้เพื่อน